วันตรุษจีน

ตรุษจีน หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตัวเต็ม: 春節, ตัวย่อ: 春节, พินอิน: Chūnjíe ชุนเจี๋ย) หรือ ขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ (ตัวเต็ม: 農曆新年, ตัวย่อ: 农历新年, พินอิน: Nónglì Xīnnián หนงลี่ ซินเหนียน) และยังรู้จักกันในนาม วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ (正月 พินอิน: zhèng yuè เจิ้งเยฺว่) และสิ้นสุดในวันที่ 15 ซึ่งจะเป็นเทศกาลประดับโคมไฟ (ตัวเต็ม: 元宵節, ตัวย่อ: 元宵节, พินอิน: yuán xiāo jié หยวนเซียวเจี๋ย)
คืนก่อนวันตรุษจีน ตามภาษาจีนกลางเรียกว่า 除夕 (พินอิน: Chúxì ฉูซี่) หมายถึงการผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน
ตรุษจีน มีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ตรุษจีนถือเป็นวันหยุดที่สำคัญมากช่วงหนึ่งของชาวจีน และยังแผ่อิทธิพลไปถึงการฉลองปีใหม่ของชนชาติที่อยู่รายรอบ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เมี่ยน ม้ง มองโกเลีย เวียดนาม ทิเบต เนปาล และภูฐาน สำหรับชาวจีนที่อาศัยอยู่ต่างถิ่นกันก็จะมีประเพณีเฉลิมฉลองต่างกันไป ในประเทศไทย

ตรุษจีนในประเทศไทย
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่
วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว
วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ
ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล
วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

เกร็ด
สัญลักษณ์อีกอย่างของเทศกาลนี้ คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองแดงใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือ หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มาคือในสมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็กๆ เด็กๆ ก็จะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว
ในเทศกาลนี้ ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรอคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ คำที่นิยมใช้กันได้แก่
新正如意 新年發財 / 新正如意 新年发财 (แต้จิ๋ว: ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย) แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
恭喜發財 / 恭喜发财 (จีนกลาง: กงฉี่ฟาฉาย)
เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ
อีกฝ่ายก็จะกล่าวตอบว่า ตั่งตังยู่อี่ แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน
อ้างอิง : วิกิพีเดีย

วันกองทัพไทย

วันกองทัพไทย เป็นวันที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า โดยถือเอาวันที่ 18 มกราคม ของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ตามการคำนวณจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า พระองค์กระทำยุทธหัตถี ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 คำนวณได้ ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 (บางตำราว่า ปี พ.ศ. 2136)
เดิมนั้นกระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้เปลี่ยนโดยให้ถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ตามมติของคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ภายหลังได้มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านได้ตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม ปีดังกล่าว ทางราชการยังคงถือเอาวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยต่อไป จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้เปลี่ยนแปลงกำหนดวันกองทัพไทยจากวันที่ 25 มกราคม ของทุกปีเป็นวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหมตามหลักการเดิม
อ้างอิง : วิกิพีเดีย

วันครู

วันครูของประเทศไทย
วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคียาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา
ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน
การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ
การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้
- กิจกรรมทางศาสนา
- พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
- กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

อ้างอิง : วิกิพีเดีย

วันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติ ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี เป็นวันหยุดราชการที่มิได้ชดเชยในวันทำงานถัดไป (วันจันทร์) มีการให้ คำขวัญวันเด็ก ทุกปีโดยนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในขณะนั้น

ประวัติ
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามคำเชิญชวนของ นายวี.เอ็ม. กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก และเพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
งานวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นทุกปีในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมจนถึง พ.ศ. 2506 และใน พ.ศ. 2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2508 โดยเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงหมดฤดูฝนและเป็นวันหยุดราชการ จนถึงทุกวันนี้

คำขวัญวันเด็ก
คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ให้คุณค่าความสำคัญของเด็ก จึงมอบคำขวัญให้เป็นข้อคติเตือนใจสำหรับเด็กปีละ 1 คำขวัญ (ก่อนถึงวันเด็กแห่งชาติ) นายกรัฐมนตรีสมัยต่อมา จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

คำขวัญนายกรัฐมนตรี

พ.ศ. 2499
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม

พ.ศ. 2502
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า

พ.ศ. 2503
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด

พ.ศ. 2504
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย

พ.ศ. 2505
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด

พ.ศ. 2506
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด

พ.ศ. 2507
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ

พ.ศ. 2508
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี

พ.ศ. 2509
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี

พ.ศ. 2510
จอมพล ถนอม กิตติขจร
อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย

พ.ศ. 2511
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง

พ.ศ. 2512
จอมพล ถนอม กิตติขจร
รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ

พ.ศ. 2513
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส

พ.ศ. 2514
จอมพล ถนอม กิตติขจร
ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ

พ.ศ. 2515
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ

พ.ศ. 2516
จอมพล ถนอม กิตติขจร
เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ

พ.ศ. 2517
นายสัญญา ธรรมศักดิ์
สามัคคีคือพลัง

พ.ศ. 2518
นายสัญญา ธรรมศักดิ์
เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี

พ.ศ. 2519
หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช
เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้

พ.ศ. 2520
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย

พ.ศ. 2521
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง

พ.ศ. 2522
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เด็กไทยคือหัวใจของชาติ

พ.ศ. 2523
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ. 2524
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม

พ.ศ. 2525
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย

พ.ศ. 2526
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม

พ.ศ. 2527
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา

พ.ศ. 2528
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม

พ.ศ. 2529
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2531
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2532
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2533
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

พ.ศ. 2534
พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา

พ.ศ. 2535
นายอานันท์ ปันยารชุน
สามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม

พ.ศ. 2536
นายชวน หลีกภัย
ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ. 2537
นายชวน หลีกภัย
ยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ. 2538
นายชวน หลีกภัย
สืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

พ.ศ. 2539
นายบรรหาร ศิลปอาชา
มุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด

พ.ศ. 2540
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
รู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด

พ.ศ. 2541
นายชวน หลีกภัย
ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ. 2542
นายชวน หลีกภัย
ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย

พ.ศ. 2543
นายชวน หลีกภัย
มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ. 2544
นายชวน หลีกภัย
มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย

พ.ศ. 2545
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

พ.ศ. 2546
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

พ.ศ. 2547
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน

พ.ศ. 2548
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

พ.ศ. 2549
พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร
อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

พ.ศ. 2550
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข

พ.ศ. 2551
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม

พ.ศ. 2552
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
อ้างอิง : วิกิพีเดีย

วันขึ้นปีใหม่

วันขึ้นปีใหม่ คือวันแรกของปี มักจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และนับเป็นวันสำคัญของปี ปัจจุบันกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่สากล ตามปฏิทินเกรกอเรียน และถือเป็นวันหยุดต่อมาจากวันสิ้นปี อย่างไรก็ตาม ในแต่ละชาติที่ใช้ปฏิทินแบบอื่น ก็จะมีวันขึ้นปีใหม่ที่แตกต่างกันไป เช่น วันตรุษจีน วันสงกรานต์ เป็นต้น

วันขึ้นปีใหม่ในประเทศไทย
ในประเทศไทย ทางราชการ(คณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม)ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา
กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ ได้แก่ การทำบุญตักบาตรที่วัดหรือสถานที่ที่ทางราชการนิมนต์พระภิกษุสามเณรจากวัดต่างๆ มาเตรียมไว้ให้ มีการลงนามถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ผู้ไปลงนามจะได้รับปฏิทินหลวงเป็นที่ระลึก นอกจากนี้ยังอาจมีงานเลี้ยงภายในเครือญาติและมิตรสหาย ช่วงใกล้วันปีใหม่มักมีการส่งบัตร ส.ค.ส. และแจกจ่ายปฏิทินสำหรับปีใหม่เป็นของกำนัล
อ้างอิง : วิกิพีเดีย