วันเทศบาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของไทยใหม่ ให้ทันสมัยเป็นอันเดียวกันกับนานาอารยะประเทศโดยจัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในรูปแบบสุขาภิบาล ที่สุขาภิบาลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 และได้ขยายการตั้งสุขาภิบาล ออกไปในท้องถิ่นต่างๆ เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476 ซึ่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล จนกระทั่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน

รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการ ให้บริการสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 70 กว่าปี เทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และสร้างความเจริญต่างๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาได้ด้วยตนเอง เพื่อตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครอง ส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการประกาศลงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2532กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น " วันเทศบาล " และได้แจ้งให้เทศบาลทั่วประเทศ เทศบาลเมืองพัทยา และกรุงเทพมหาคร ได้จัดกิจกรรมเนื่อง ในวันเทศบาลเป็นประจำทุกปี เช่น การทำบุญตักบาตร การรณรงค์ร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นการจัดหน่อยบริการประชาชน เคลื่อนที่เป็นพิเศษ การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบทบาทและภาระกิจของเทศบาลให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท) ได้จัดให้มีโครงการวันเทศบาลขึ้นเพื่อเชิดชูความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วกัน โดยมีกิจกรรมพิเศษ เช่นทำบุญตักบาตร กิจกรรมการแข่งขันกีฬา และจัดบอร์ดแสดงผลงาน

วันคุ้มครองโลก

วันคุ้มครองโลก หรือ เอิร์ธเดย์ (Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Environment Program "UNEP") เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2543
ในประเทศจัดให้มีกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรีนพีซ
นอกจากวันเอิร์ธเดย์ 22 เมษายนแล้ว ยังมีวันเอิร์ธเดย์ที่ถูกกำหนดขึ้นจากช่วงวิษุวัต หรือ อิกควินอกซ์ (equinox) เช่นกัน วิษุวัตเป็นช่วงที่ในกลางวันและกลางคืนมีระยะเวลาเท่ากัน และเป็นการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือ และฤดูใบไม้ร่วงในซีกโลกใต้ โดยนับจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่แกนขั้วโลกจะตั้งได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในช่วงวันที่ 20-21 มีนาคมของทุกปี

ประวัติ
วันคุ้มครองโลกนี้ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) เป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2505 วุฒิสมาชิกเนลสันได้ตัดสินใจขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เคเนดีเห็นด้วยและได้ออกทัวร์ทั่วประเทศ เป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การทัวร์ครั้งนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่มวันคุ้มครองโลก จนในปี พ.ศ. 2512 วุฒิสมาชิกเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เพื่อให้แสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้เชิญชวนให้ทุก ๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดกระแสความห่วงใยในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ของสังคมอเมริกันในขณะนั้น นำสู่ความสำเร็จของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลกขึ้นต่อมา

วันสงกรานต์

สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

วันในเทศกาลสงกรานต์
ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) ซึ่งบางปีก็อาจจะตรงกับวันใดวันหนึ่ง

ตำนานนางสงกรานต์
ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[1] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
วันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

กิจกรรมในวันสงกรานต์
การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
การดำหัว ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย
การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด

วันจักรี

วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี

ประวัติ
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงของไทย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1-4) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และมีการย้ายที่หลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาทเป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 (ร.1-4) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ
จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมา โปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”

วันอนุรักษ์มรดกไทย

วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ

ประวัติ
คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย ได้มีมติเห็นชอบคำจำกัดความคำว่ามรดกไทย คือ "มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ซึ่งได้แก่ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โบราณสถาน วรรณกรรม ศิลปหัตถกรรม นาฏศิลป์และดนตรี ตลอดจนถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่างๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา"
คณะรัฐมนตรีซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ อธิบดีกรมศิลปากรเป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชนรวม 28 คน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ได้มีการจัดตั้งกองทุนอนุรักษ์มรดกไทยขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหลายได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไทย เนื่องจากงบประมาณของรัฐมีไม่เพียงพอ

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันอนุรักษ์มรดกฝรั่ง
1.เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ
2.เพื่อรณรงค์ให้มีการสงวนรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกวิธี
3.เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของโบราณสถาน โบราณวัตถุและร่วมรับผิดชอบดูแลทะนุบำรุงรักษาได้เป็นมรดกไทยประจำถิ่น
4.เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น
5.เพื่อลดอัตราการสูญเสีย และการถูกทำลายของโบราณสถานโบราณวัตถุให้น้อยลง
6.เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งมีผลให้วัฒนธรรมไทยเบี่ยงเบนเปลี่ยนทิศทางไป

วันข้าราชการพลเรือน

วันข้าราชการพลเรือน ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพุทธศักราช 2471 ซึ่งเป็นการจัดระเบียบข้าราชการฝ่ายพลเรือนให้เป็นมาตรฐาน มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471 จึงได้ถือวันนี้เป็นวันข้าราชพลเรื่อนตั้งแต่นั้นมา
การจัดงานในวันข้าราชการพลเรือน มีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2522 หัวใจของงานส่วนใหญ่ เป็นการมอบเกียรติบัตรยกย่อง สดุดีข้าราชการดีเด่น ในส่วนกลางนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

วันเอพริลฟูลส์

วันเอพริลฟูลส์ (อังกฤษ: April Fool's Day) หรือเรียกในชื่ออื่นว่า วันเมษาหน้าโง่, วันโกหกเดือนเมษายน, วันเทศกาลคนโง่ เป็นเทศกาลในวันที่ 1 เมษายน วันนี้เป็นวันที่จะอนุญาตให้โกหกต่อกันได้ โดยไม่ถือโกรธ ในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับของวันนี้ อาจมีเหตุการณ์น่าตกใจ ตื่นเต้นเป็นหัวข้อข่าว แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นต่อมาจึงได้เฉลยว่าข่าวที่ลงไปนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เทศกาลนี้เริ่มขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสและเป็นที่นิยมกันไปทั่วโลก ในประเทศไทยเริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา