วันสหกรณ์แห่งชาติ

วันสหกรณ์แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สืบเนื่องมาจากสหกรณ์ในประเทศต่างๆ เจริญก้าวหน้าส่งผลดีในการพัฒนาประเทศ สำหรับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2458 นโยบายแห่งรัฐ เห็นสมควรนำวิธีการสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์(พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วใน อินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมนี และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันสหกรณ์แห่งชาติ "

วันศิลปินแห่งชาติ

วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทรงทำนุบำรุง ซ่อมแซมงานศิลปกรรมต่างๆ และทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ
ด้วยเห็นว่าประเทศไทยมีศิลปินในสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ได้สร้างสรรค์ผลงานไว้ให้แก่ประเทศชาติ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูงส่ง ดังนั้น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงจัดให้มีโครงการศิลปินแห่งชาติขึ้น เมื่อพ.ศ. 2527 เพื่อจัดทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ และสรรหาบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยความอุตสาหะ และมีผลงานปรากฏต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อยกย่องเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะนำศิลปินแห่งชาติเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของแต่ละปี ซึ่งกำหนดให้เป็นวันศิลปินแห่งชาติ
ทางราชการสนับสนุน ส่งเสริมให้จัดงานวันศิลปินแห่งชาติกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ โดยให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด และศูนย์วัฒนธรรมอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ศิลปินได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการสืบทอดความรู้ความสามารถของศิลปิน และเพื่ออนุรักษ์ศิลปะแขนงต่างๆเอาไว้ไม่ให้สูญหาย โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้าน
งานวันศิลปินแห่งชาติจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2529

วันวาเลนไทน์

วันนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's Day) หรือที่เป็นที่รู้จักว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันประเพณีที่คู่รักบอกให้กันและกันทราบเกี่ยวกับความรักของพวกเขา โดยการส่งการ์ดวาเลนไทน์ ซึ่งโดยมากจะไม่ระบุชื่อ วันนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับความรักแบบชู้สาวในช่วงยุค High Middle Ages เมื่อประเพณีความรักแบบช่างเอาใจ (courtly love) แผ่ขยาย

ประวัติ
วันวาเลนไทน์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของ Lupercalia การดำเนินชีวิตของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในสมัยนั้นจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเพณี อย่างนึง ซึ่งเด็กหนุ่มสาวยังสืบทอดต่อกันมา คือ คืนก่อนวันเฉลิมฉลอง Lupercalia นั้นชื่อของเด็กสาวทุกคนจะถูกเขียนลงในเศษกระดาษเล็ก ๆ และจะใส่เอาไว้ในเหยือก เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลอง บางครั้งการจับคู่นี้ ท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการที่เด็กหนุ่มและเด็กสาวทั้งสองนั้นได้ตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในที่สุด
ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลาย ครั้ง และคลอดิอุสเองก็ประสบกับปัญหาในการที่จะหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม และเขาเชื่อว่าเหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ชายโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนอันเป็นที่รักไป และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จักรพรรดิคลอดิอุสประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดในกรุงโรม ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญวาเลนไทน์ ท่านเป็นพระที่กรุงโรมในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ท่านนักบุญวาเลนไทน์และนักบุญมาริอุส ได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวคริสเตียนที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และได้จัดให้มีการแต่งงานของคู่รักอย่างลับ ๆ ด้วย
และจากการกระทำเหล่านี้เอง ทำให้นักบุญวาเลนไทน์ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศีรษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์

นักบุญวาเลนไทน์
นักบุญวาเลนไทน์ ทำให้จักรพรรดิที่โรมเกิดความสำนึก และผู้พิพากษาได้กลับใจมาเป็นคาทอลิกเพราะท่านนักบุญทำให้บุตรสาวของเขาหาย จากตาบอด
วา เลนไทน์ บวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรมและได้เป็นพระสังฆราชในเวลาต่อมา ท่านได้ถูกจับโดยคำสั่งของจักรพรรดิโกลดิโอ ที่ 2 เพราะท่านขึ้นชื่อลือเด่นในทางบำเพ็ญฤทธิ์กุศลหลายประการขั้นแรกจักรพรรดิ ทรงซักถามวาเลนไทน์ด้วยความมักรู้มักเห็น แต่ต่อมาทรงรู้สึกสนพระทัยในคำสอนของคริสตัง ที่สุดพระองค์ตรัสว่า : “คำสอนของบุรุษผู้นี้ฟังแล้วจับใจจริง ๆ “ แต่ในขณะที่พระองค์ทรงเริ่มมีความเชื่อ ท่านผู้ว่าราชการกรุงโรมก็จัดให้ผู้พิพากษานายหนึ่งเข้ามาซักถามท่านวาเลน ไทน์ ผู้พิพากษาคนนี้เยาะเย้ยท่านในเรื่องที่คริสตังชอบกล่าวว่า “พระคริสต์ทรงเป็นองค์ความสว่างของโลก”
ลูกสาวของผู้ พิพากษาคนนี้ตาบอด วาเลนไทน์ได้ทำอัศจรรย์ให้หาย อัสเตริอุส ผู้พิพากษาจึงกลับใจเชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้า เมื่อเห็นดังนั้น ท่านผู้ว่าราชการเกิดความอิจฉา และต้องการกำจัดท่านวาเลนไทน์ จึงจับท่านวาเลนไทน์ไปขังไว้ในคุกมืด แล้วใช้ไม้เป็นปุ่มเป็นตาเฆี่ยนท่านอย่างสาหัส ที่สุดนำท่านไปตัดศีรษะ นักบุญวาเลนไทน์ เป็นองค์อุปถัมภ์ของชาวเมืองตารัสก็อง (ภาคใต้ของฝรั่งเศส)

การส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์
มนุษย์ได้ใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการแสดงความรักต่อกันมานานแล้ว เราอาจจะคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่สามารถใช้สื่อความหมายเฉพาะความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วดอกไม้แต่ละชนิดสามารถสื่อความรักได้หลายรูปแบบ ทั้งยังไม่จำกัดอายุและเพศอีกด้วย
กุหลาบแดง (Red Rose) : จะใช้ในความหมายแทน ประโยคที่ว่า "ฉันรักเธอ"
กุหลาบขาว (White Rose) : กุหลาบขาวแทนความหมายแห่งความรักอันบริสุทธิ์
กุหลาบชมพู (Pink Rose) : มักถูกใช้แทนความรักแบบโรแมนติก และความเสน่หาต่อกัน
กุหลาบเหลือง (Yellow Rose) : สีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส แทนความรักแบบเพื่อน
อ้างอิง : วิกิพีเดีย

วันทหารผ่านศึก

วันทหารผ่านศึก ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันที่รัฐบาลได้จัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ "ทหารผ่านศึก" และครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยมีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่าวันนี้เป็นวันทหารผ่านศึกตลอดมา
วันนี้ของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของชาติ จะร่วมกันจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า และยังมีพิธีสวนสนามที่ลานอเนกประสงค์ กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ด้วย

วันนักประดิษฐ์

วันนักประดิษฐ์ของไทย ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี กำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงประดิษฐ์ "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย" หรือ กังหันชัยพัฒนา และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 และเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรให้แก่พระมหากษัตริย์ พระองค์แรกของโลก
วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันนักประดิษฐ์
-เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ทรงพระปรีชาสามารถประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ
-เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก
-เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานของนักประดิษฐ์ไทยให้เป็นที่รู้จัก
-เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
-เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและประสานประโยชน์ระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์คิดค้น
-เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจแก่นักประดิษฐ์เยาวชนและประชาชนทั่วไปในอันที่จะแสดงความรู้ความสามารถต่อสาธารณชน เพื่อจะได้ทำการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น
-เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักประดิษฐ์ที่มีความสามารถ และนำผลงานของนักประดิษฐ์ออกเผยแพร่ใช้งานได้อย่างจริงจัง
อ้างอิง : วิกิพีเดีย

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา (บาลี: มาฆปูชา; อังกฤษ: Magha Puja) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปุรณมีบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (มักอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หรือเดือนมีนาคม) ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)
วันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช อันเป็นปีแรกแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ในวันนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง 1,250 องค์นั้นได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4
เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์ กล่าวคือหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชา ให้เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยวัยรุ่นสาวมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน
สำหรับในปี พ.ศ. 2552 นี้ วันมาฆบูชาจะตรงกับ วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติ

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาในพุทธประวัติ
ความสำคัญ
"วันมาฆบูชา" เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการคือ
1. พระอรหันต์สาวก 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
2. พระอรหันต์สาวกหรือพระสงฆ์ทั้ง 1,250 รูปนี้ล้วนเป็นล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น เรียกว่าวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
3. พระอรหันต์สาวกทั้ง 1,250 รูปนี้ ต่างได้มาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
4. วันที่พระสงฆ์ 1,250 องค์มาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมายนี้ ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือนสาม)
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "จาตุรงคสันนิบาต" (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)
อ้างอิง : วิกิพีเดีย