วันน้ำของโลก

วันน้ำของโลก (World Day for Water หรือชื่อที่ไม่เป็นทางการคือ World Water Day) ตรงกับวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น ในปี ค.ศ.1992 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น " วันน้ำของโลก " หรือ " World Day for Water " เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติ ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสหประชาชาติปี 1992 ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือที่เรียกกันว่า Agenda 21 จัดโดยองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ซึ่งในแต่ละปีจะมีหน่วยงาน ในสังกัดองค์การสหประชาชาติรับผิดชอบในการร่วมจัดงาน ซึ่งในปี 2007 นี้ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) (ในนามโครงการน้ำเพื่อชีวิต) (Water for life) เป็นผู้จัดร่วม ในหัวข้องาน(ธีม) ว่า Coping with Water Scarcity

วันสตรีสากล

วันสตรีสากล 8 มีนาคม เป็นวันที่มีการประทวงของแรงงานหญิง ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน
วันสตรีสากล มิเพียงแค่การเฉลิมฉลองเหมือนงานประเพณีที่มักทำติดต่อกันทุกปี หากจะเป็นการตระหนักร่วมและให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้ใช้ แรงงานหญิง และสืบทอดเจตนารมย์ที่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย จากความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้กียรติและเท่าเทียมในฐานะที่ ผู้หญิงก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม

วันช้างไทย

วันช้างไทย ริเริ่มจากคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานงาน องค์การภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างไทยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น
คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาหาวันที่เหมาะสม ซึ่งครั้งแรกได้พิจารณาเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติ มีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสม จึงได้นำเสนอมติตามลำดับขั้นเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกทางหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เห็นชอบให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันช้างไทย และได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
ผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์

วันนักข่าว

สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือ นายโชติ มณีน้อย, นายเท่ห์ จงคดีกิจ, นายประจวบ อัมพะเสวต, นายวิเชียร โรจนวงศานนท์, นายถาวร มุ่งการดี, นายสนิท เอกชัย, นายเชาว์ รูปเทวินทร์, นายจรัญ โยบรรยงค์, นายกุศล ประสาร, นายชลอ อาภาสัตย์, นายอนงค์ เมษประสาท, นายวิสัย สุวรรณผาติ, นายนพพร ตุงคะรักษ์, นางวิภา สุขกิจ, และ นายเลิศ อัศเวศน์ นัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมี นายชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม
โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่าน ว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายนั่นเอง แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนผู้อ่านตื่นตัว และต้องการรับข่าวสารมากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป
สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมา งานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่างๆ ตามความเหมาะสม
ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน